ระบบเศรษฐกิจของบรูไนเป็นแบบตลาดเสรี
ภายใต้การดูแลของรัฐ รายได้หลักของประเทศมาจากน้ำมัน ประมาณ 48% และก๊าซธรรมชาติ
ประมาณ 43% นับเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย คือประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน
และผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก คือประมาณ 1.2
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (Brunei
National Petroleum Company Sedirian Berhad หรือ Petroleum
Brunei) ซึ่งจัดตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544
เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายน้ำมันและก๊าซ
โดยมุ่งเน้นสร้างความมั่งคั่งด้วยการนำรายได้จากน้ำมันไปลงทุนในต่างประเทศ
หรือร่วมทุนกับต่างประเทศ โดยดำเนินการผ่าน Brunei Investment Agency (BIA)
ในรูปการถือหุ้นหรือซื้อพันธบัตรในยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
และเวียดนาม โดยส่วนใหญ่อาศัยผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์เป็นผู้ให้คำปรึกษา
เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของบรูไน คือ
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ส่งออกถึงร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด)
ทำให้บรูไนมีดุลการค้าเกินดุลมาโดยตลอด สินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ
ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐ ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐเกาหลี ตามลำดับ
ในขณะที่สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ และมาเลเซีย โดยเป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรม
รถยนต์ เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและผลไม้
บรูไนมีอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่บ้าง
ได้แก่ การผลิตอาหาร เครื่องมือ และเสื้อผ้า
เพื่อส่งออกไปยังประเทศในยุโรปและอเมริกา ทั้งนี้
รัฐบาลบรูไนมุ่งที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและผลิตเครื่องดื่ม
เสื้อผ้าและสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ วัสดุก่อสร้างที่ไม่ใช่โลหะ
กระจกรถยนต์ เป็นต้น แต่ยังคงประสบอุปสรรคด้านการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างฝีมือ
ซึ่งต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศเป็นหลัก และตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก
ข้อมูลจาก http://www.baanjomyut.com
ข้อมูลจาก http://www.baanjomyut.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น