วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

นโยบายเศรษฐกิจ


นโยบายเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังพยายามพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นเพื่อเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซเป็นหลักไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันสำรองที่ยืนยันแล้ว (proven reserve) ของบรูไนจะหมดลงในราวปี 2558 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเอเชียตั้งแต่ปี 2543 ทำให้บรูไนเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และใช้มาตรการต่างๆเพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. จัดตั้งสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ นำโดยเจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีแนวทางในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ
2. ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่เน้นนโยบายการให้สวัสดิการ มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และมีการขยายฐานการจัดเก็บภาษี
3.ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนในต่างประเทศของ BIA โดยหันมาลงทุนในธุรกิจด้านใหม่ๆที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การซื้อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม หรือธุรกิจสายการบิน
4. ตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 (The Eighth National Development Plan: 8th NDP) ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2544-2548 รัฐบาลบรูไนได้ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 5-6% โดยเน้นการสร้างสมดุลของงบประมาณให้ดีขึ้น และกำหนดมาตรการในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบยั่งยืน สร้างการขยายตัวและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจบางกิจการ และสร้างความแข็งแกร่งในระบบการเงินและการคลัง นอกจากนี้ ยังยึดแนวคิดของระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) และมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคเอกชน
5. ส่งเสริมการลงทุนร่วมกับต่างชาติ สนับสนุนการเปิดเสรีการค้า และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ
6. พัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยว (Service Hub for Trade and Tourism – SHuTT 2003 Vision) และตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในโครงการความร่วมมือของกลุ่ม Brunei Indonesia Malaysia Philippines – East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)

7. สร้างความเข้มแข็งของระบบการเงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและเอื้ออำนวยต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคพื้นฐาน และกำหนดแผนพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศ (Brunei International Financial Center: BIFC) เพื่อพัฒนาการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ กระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสในการทำงานให้กับประชาชน
        ข้อมูลจาก http://www.baanjomyut.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น